เมื่อกระแสของเศรษฐกิจโลกกำลังจะเปลี่ยนไปทาง Green Economy นั่นหมายความว่าห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ก็กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นกัน ยกตัวอย่าง บริษัทที่เคยส่งออกสินค้าได้มาก แต่ถ้าไม่เริ่มหาทางลดการปล่อยมลพิษ ต่อไปผู้ซื้อก็จะหันไปหาบริษัทที่สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและรักษาสิ่งแวดล้อมไปได้พร้อม ๆ กันแทน ดังนั้นเจ้าของธุรกิจจึงต้องเร่งศึกษาว่าจะทำอย่างไรถึงจะลดการปล่อยมลพิษให้เป็นศูนย์ได้ จึงนำมาซึ่งเทรนด์การลงทุนที่สิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาลจะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น
ESG คืออะไร?
Source: Freepik
ESG (ย่อมาจาก Environmental, Social, and Governance) หรือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลกำลังกลายเป็นกระแสหลักในการลงทุนทั่วโลก นักลงทุนสถาบันกำลังให้ความสำคัญกับ ESG ในการตัดสินใจลงทุน ESG ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักลงทุนสถาบันทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทจัดการสินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง “BlackRock, Inc.” ที่สร้าง Movement ครั้งสำคัญตั้งแต่การประชุม World Economic Forum 2023 โดยการประกาศจะขายหุ้นของบริษัทที่ยังไม่เป็น NetZero ทั้งหมดภายในปี 2030 ซึ่ง BlackRock นับเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกและถือหุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Amazon, Alphabet, Meta ฯลฯ นั่นจึงเป็นอีกสัญญาณที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกกำลังจะเอาจริงกับเรื่องของ Green Economy
แนวคิดการลงทุน ESG จึงประกอบไปด้วยประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ประเด็นทางสังคม และธรรมาภิบาลขององค์กร ที่ก่อให้เกิด “Impact Investing” สร้างผลกระทบเชิงบวก มุ่งเน้นให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม วัดผลได้ และยังสร้างผลตอบแทน/กำไรได้อีกด้วย คำว่า ESG เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในรายงานปี 2004 ที่ชื่อ "Who Cares Wins" ซึ่งเป็นความร่วมมือของสถาบันการเงินภายใต้การเชื้อเชิญขององค์การสหประชาชาติ (UN)
ESG ครอบคลุมปัจจัยด้านใดบ้าง?
ESG เป็นกรอบการประเมินความยั่งยืนของบริษัทหรือองค์กร โดยพิจารณาจากปัจจัย 3 ด้าน ได้แก่
Source: Globthailand
- สิ่งแวดล้อม (Environmental): การดำเนินธุรกิจของบริษัทส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการของเสีย การใช้พลังงาน
- สังคม (Social): บริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร เช่น การดูแลพนักงาน การเคารพสิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมกับชุมชน
- ธรรมาภิบาล (Governance): บริษัทมีการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส และตรวจสอบได้อย่างไร เช่น โครงสร้างคณะกรรมการบริษัท นโยบายการต่อต้านคอร์รัปชัน
ทำไม ESG ถึงได้รับความนิยม?
นอกจากเรื่องของสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีเหตุผลหลายประการที่ทำให้ ESG ได้รับความนิยมในหมู่นักลงทุนสถาบัน ได้แก่
- ผลตอบแทนที่ยั่งยืน: หลายการศึกษาพบว่าบริษัทที่มีคะแนน ESG สูงมีแนวโน้มที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มักมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีกว่า และมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า
- ความต้องการของผู้ลงทุน: ผู้ลงทุนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังมองหาการลงทุนที่ไม่เพียงแต่สร้างผลตอบแทนทางการเงิน แต่ยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย โดยเฉพาะ Blackrock ที่ประกาศตัวเองอย่างชัดเจนในการโฟกัสกับธุรกิจที่มีแนวคิด ESG มากขึ้น โดยดึงมาเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์การลงทุนในอนาคต และมองว่าไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ยังเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ชาญฉลาดอีกด้วย
- แรงกดดันจากภาครัฐ: หลายประเทศทั่วโลกกำลังออกกฎหมายและข้อบังคับที่ส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืน ทำให้นักลงทุนสถาบันต้องให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น
- ความเสี่ยงที่ลดลง: บริษัทที่มีคะแนน ESG ต่ำอาจเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ความเสียหายต่อชื่อเสียง คดีความ และการสูญเสียลูกค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการในระยะยาว
การเติบโตของสินทรัพย์ ESG จะเป็นอย่างไร?
เมื่อเดือนมกราคม ปี 2024 Bloomberg Intelligence (BI) คาดการณ์ว่าสินทรัพย์ ESG ทั่วโลกจะแตะ 40 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 แม้เผชิญสภาวะท้าทาย โดยฉบับล่าสุดจาก Bloomberg Intelligence ระบุว่าสินทรัพย์ ESG ทั่วโลกมีมูลค่าเกิน 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และคาดว่าจะเกิน 40 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 ซึ่งคิดเป็นกว่า 25% ของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ที่คาดการณ์ไว้ที่ 140 ล้านล้านดอลลาร์
ความท้าทายที่ว่านั้นมาจากระบบเศรษฐกิจมหภาคและการเติบโตที่อาจลดลง 70% เหลือ 3.5% แต่ตลาด ESG คาดว่าจะเติบโตเต็มที่และสอดคล้องกับกฎระเบียบโลกภายในสิ้นทศวรรษนี้ นอกจากนี้ BI คาดว่าการตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้นและกฎระเบียบที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจะช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินทรัพย์ ESG นอกจากนั้นยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ ESG ในด้านมุมมองและประเด็นที่ให้ความสำคัญว่าขาดมาตรฐานที่ชัดเจน กฎระเบียบและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การฟอกเขียว (Greenwashing) ที่เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและรักษ์โลก แต่ไม่ได้ลดผลกระทบที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจริง ๆ เป็นต้น
อ้างอิง:
,
,
บทความโดย
คำเตือน:
- สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
- ข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่ข้อเสนอการลงทุนหรือการจัดการใด ๆ ของการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เนื้อหาข้างต้นเป็นการรวบรวมเนื้อหาโดยใช้ข้อมูลในอดีตอาจมีการคลาดเคลื่อนได้ นักลงทุนควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล